วัดนางบวชเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ มีอดีตเจ้าอาวาสดำรงตำแหน่งตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ดังรายนามต่อไปนี้ :- ๑. พระครูโชติ พ.ศ. ๒๔๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ๒. พระอธิการผล พ.ศ. ๒๔๓๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ ( หลังจากนั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่าง มีแต่รักษาการ เพราะไม่มีพระองค์ใดที่เหมาะสม ) ๓. พระอธิการเลี่ยม พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ๔. พระอธิการผิว พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ๕. พระอธิการผ่อน พระพึ่ง พระผาด พระยวด พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ ( ในตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส ทุกรูป ) ๖. เจ้าอธิการหวล พ.ศ. ๒๔๗๘ ถึง ฑ.ศ. ๒๔๘๒ ๗. พระอธิการแขม พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึง ๒๔๙๓ ๘. พระครูทิม อุตะมะโชโต พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ๙. พระครูพิทักษ์ธรรมโชติ (พระมหาสำราญ สุจิตโต) พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึงปัจจุบัน
ประวัติตำนานนางบวช
มีตำนานเก่าเล่ากันสืบต่อมาว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งรูปงาม ชื่อ พิมสุลาไลย นางตั้งใจรักษาศีลและทอผ้าใยบัวอยู่บนยอดเขากี่ (เขากำมะเชียร) ปัจจุบันอยู่ในตำบลเขาพระ นางได้ทอผ้าไว้เพื่อรอถวายพระศรีอาริย์ ต่อมา มีชายคนหนึ่งชื่อ สีนนท์ ชอบในการต่อไก่ป่า จึงได้เอา ครืน (เครื่องมือ) และหลักไก่ ไปปักไว้ที่เชิงเขา นายสีนนท์ได้เห็นนางพิมสุลาไลยเข้า ก็เกิดความรัก จึงได้เกี้ยวพาราสีนาง แต่นางไม่มีความรักตอบและโกรธเคืองมาก และคิดว่า ความสวยงามของนางเป็นต้นเหตุให้ชายผู้นั้นใช้เสน่ห์เล่ห์กลและเวทมนต์คาถา จนทำให้นางมีราคีติดตัว เพื่อหนีโลกีย์วิสัย นางจึงได้ตัดถัน (เต้านม) ทั้งสองข้างของนางขว้างทิ้งไป ถันทั้งสองข้างนั้นกลายเป็นเขา ปัจจุบันเรียกว่า "เขานมนาง" อยู่ใกล้กับเขากี่ (เขากำมะเชียร) ส่วนโลหิตที่ไหลจากเต้านมของนางกลายเป็นบึงอยู่ใกล้กับเขานั้น เรียกว่า "บึงกามเชือด" ปัจจุบันบึงนี้เรียกว่า "บึงกำมะเชียร" เมื่อนางเสียพิธีที่จะทอผ้าถวายพระศรีอาริย์แล้ว จึงเลิกทอผ้าคิดจะหนีไปบวชชี นางจึงออกเดินทางผ่านเขาแห่งหนึ่ง รู้สึกปวดเต้านมเป็นอย่างมาก จึงได้ร้องโอดโอย ปัจจุบันเขาลูกนั้นเรียกว่า "เขาชะโอย" แล้วนางก็ได้เดินไปพักหลับนอนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า "บ้านนางนอน" ปัจจุบันเรียกว่า "บ้านยางนอน" และเดินไปโกนผมที่ข้างหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ หมู่บ้านนั้นจึงเรียกกันว่า "บ้านนางบวช" ปัจจุบันเป็นตำบล "นางบวช" เป็นที่มาของวัดนางบวชนี้เอง. |